ประวัติศาสตร์ตำรวจ (แบบจัดเต็ม)
คงเคยได้ยินกันจนชินหูนะครับ
ครูสอนภาษาไทยสอนว่า 'ตำรวจ' เป็นคำเขมร ... มาจากคำว่า 'ตรวจ'
ประกอบกับ ด้วยหลักคิดที่ง่ายแสนง่ายว่า "ตำรวจ" มีหน้าที่ "ตรวจตรา"
ฉะนั้นแล้ว ...
คำว่า "ตำรวจ" จะมีที่มาเป็นอื่นนั้นหาได้ไม่ ... ต้องมาจากคำว่า "ตรวจ" เป็นแน่แท้ ...
ผมแอบสงสัยว่า แล้วทำไมคำว่า "ตำรา" ถึงไม่ได้มีที่มามาจากคำว่า "ตรา" บ้าง ?
ในฐานะ 'นักเล่านิทาน' กุเรื่องไม่น่าสนใจ ให้มีประเด็นไปวันๆ ...
และในฐานะ 'ตำรวจ' คนหนึ่ง ... วันนี้ ผมจะขอร่ายยาว เกี่ยวกับ 'รากเหง้า' ของอาชีพอาถรรพ์อาชีพนี้ซักหน่อย
นักประวัติศาสตร์ท่านว่าไว้เกือบจะตรงกันว่า คำว่า 'ตำรวจ' ปรากฏขึ้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ราวๆปี พ.ศ.2000
แต่ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ นักประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ค้นพบศิลาจารึกที่เมืองละโว้ กล่าวถึง 'ตำรวจ' ไว้ในภาษาขอมว่า "ตมฺรฺวจ์" (อ่านว่า ตำ-มะ-ระ-วัด หรือ ตำ-มะ-ระ-วาด) ...
ตรงตัวพอมั้ย? ...
อ่านถึงตรงนี้ คงได้ตาสว่างกันบ้างนะครับว่า คำว่า 'ตรวจ' เกี่ยวอะไร (วะ)
ที่สำคัญเกินกว่าคำอ่าน คือความหมายของ "ตมฺรฺวจ์"
ศิลาจารึกฉบับเดียวกันพบว่า มีคำว่า "วิษย" ต่อท้ายคำว่า "ตมฺรฺวจ์วิษย" (อ่านว่า ตำ-มะ-ระ-วัด-วิ-สัย) และมีความหมายเป็นคำขยายให้ "ตมฺรฺวจ์" จำเพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น
และในศิลาจารึกแห่งประสาทสด๊กก๊อกธม ((แปลว่า ปราสาทบึงกก ... ผมแปลเอง 555+)) มีจารึกเกี่ยวกับตำแหน่งข้าราชการขอมที่น่าสนใจและอาจอุปมานำมาเทียบเคียงได้อยู่ 2 ตำแหน่ง
คือตำแหน่ง "โฉลญ์" ซึ่งพบว่ามี "โฉลญ์" อยู่ 2 สปีชีส์ คือ "โฉลญ์วิษย" และ "โฉลญ์วล" ...
"วิษย" นี้แปลว่า เมือง เขต แดน
ส่วน "วล" (อ่านว่า วะละ) นี้แปลตามอิทธิพลภาษามคธของพระพุทธศาสนา (คำว่า "พล")ได้ว่า กำลัง
ซึ่งมันก็สุดปัญญาของผมที่จะค้นคว้าหาความต่อว่า "โฉลญ์" คือใคร ทำหน้าที่อะไร แต่อาจเป็นไปได้ว่า เป็นตำแหน่งคล้ายๆกับองครักษ์ฝ่ายในซึ่งเป็นสุภาพสตรี คอยถือไม้เรียวหวดขาสาวชาววังเวลาเดินเหยียบธรณีประตูวังเหมือนในละคร 'สี่แผ่นดิน' ซึ่งในภาษาไทยอาจออกเสียงเพี้ยนไปเป็นคำว่า "โขลญ"
ด้วยเหตุผลนี้ คงพอจะอนุมานได้ว่า "ตมฺรฺวจ์" เอง ก็'อาจ'มีทั้ง "ตมฺรฺวจ์วิษย" และ "ตมฺรฺวจ์วล"
ถ้ามาวิเคราะห์กันที่คำแปล ก็ยิ่งดูดีมีเหตุผล
"ตมฺรฺวจ์วิษย" ตำรวจในเมือง ซึ่งอาจมีหน้าที่รับผิดชอบในเขตพระนคร
"ตมฺรฺวจ์วล" ตำรวจพล ซึ่งก็อาจอุปมาได้ว่าเป็น "พลตำรวจ" หรือตำรวจทั่วๆไป หรืออาจหมายถึง "กองกำลังตำรวจ"
และถ้าว่ากันตามความสวยหรูของศัพท์ "ตมฺรฺวจ์วิษย" น่าจะมีบรรดาศักดิ์สูงกว่า "ตมฺรฺวจ์วล"
ทั้งนี้ศิลาจารึกละโว้หลักเดียวกันนี้ ยังปรากฏตำแหน่ง ‘โฉลญตมฺรฺจ์วิษย' ... ขึ้นมาให้งงเล่นกันอีกตำแหน่งหนึ่ง ...
ซึ่งแน่นอน ... ขอหยุดแค่นี้ก่อน ... ไม่ไหวจะเจาะจริงๆ มันชักจะเลอะเทอะกันไปใหญ่
อย่างไรก็ตาม ... ในหนังสือ 'เขมรใช้...ไทยยืม' ของอาจารย์ศานติ ภักดีคำ แห่งคณะมนุษย์ศาสตร์ มศว. ได้กรุณาจาระไนไว้ว่า คำว่า "ตมฺรฺวจ์" นั้น แท้ที่จริงอาจเป็นตำแหน่งองรักษ์ที่อยู่ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์มากที่สุด เนื่องด้วย "ตมฺรฺ" หรือ "อมร" นี้แปลว่าผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ไม่ตาย ซึ่งถ้าว่ากันตามหลักการปกครองในสมัยนั้นที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพ คำว่า "ตมฺรฺ" จะเป็นใครไปไม่ได้เลยนอกจาก "พระมหากษัตริย์" เพียงพระองค์เดียว
ด้วยเหตุผลข้างต้นนี้ ... จึงสอดคล้องต้องกันกับการนำคำว่า "ตมฺรฺวจ์" มาใช้ในราชสำนึกสยามในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ...
คำว่า "กรมพระตำรวจ" ได้ถือกำเนิดขึ้นในสมัยนี้ และมีพัฒนาการเรื่อยมาตามยุคสมัย
ตั้งแต่สมัยอยุธยาราชธานีเรื่อยมา พอจะปรากฏคำว่า "ตำรวจ" ดังนี้
กรมพระตำรวจในขวา
กรมพระตำรวจในซ้าย
กรมพระตำรวจนอกขวา
กรมพระตำรวจนอกซ้าย
กรมพระตำรวจใหญ่ขวา
กรมพระตำรวจใหญ่ซ้าย
กรมพระตำรวจช่างทหารใน
กรมพระตำรวจสนมทหารซ้าย
จะเห็นได้ว่ากรมพระ "ตำรวจ" ต่างๆ ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์และความปลอดภัยของพระองค์
เท่าที่พอจะค้นได้ ตำแหน่งเจ้ากรมในกรมพระตำรวจต่างๆนั้น มีชื่อราชทินนามค่อนข้างคุ้นหู
ประเภทว่า "พระราชวรินทร์" "พระอินทรเดช" "พระพิเรนทรเทพ" "พระมหามนตรี" ฯลฯ
ส่วนแต่ละท่านจะกรมไหน ซ้าย ขวา นอก ใน ใหญ่ เล็ก... อันนี้ก็ยังเถียงกันไม่รู้จักจบสิ้น เพราะแต่ละยุคสมัย ราชทินนามเหล่านี้ก็ผลัดเปลี่ยน หมุนเวียนผู้มาดำรงตำแหน่ง
ไม่ใช่ว่าพูดถึง "พระพิเรนทรเทพ" ก็ตะพึดตะพือว่าเป็น "พระพิษณุโลกสองแคว" ((ฉัตรชัย เปล่งพาณิชย์)) กันไปหมด
นอกจากนี้ยังมีชื่อกรมแปลกๆที่ไม่ได้มีคำว่า "ตำรวจ" แต่ถือกันว่าเป็น "ตำรวจ" พวกหนึ่ง อาทิ กรมพลพัน กรมทนายเลือก ฯลฯ ซึ่งไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้
มาว่ากันในส่วนของอำนาจหน้าที่ ...
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชนิพนธ์ไว้ใน "พระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน" มีความว่า
"ส่วนที่เป็นทหารรักษาพระองค์นั้น คือกรมพระตำรวจ ๘ กรม กรมพลพัน กรมทนายเลือก กรมคู่ชัก กรมทหารใน กรมเหล่านี้เป็นทหารรักษาพระองค์ ต้องนอนประจำเวรในพระบรมมหาราชวัง เมื่อมีที่เสด็จพระราชดำเนินทางบกทางเรือ ในการสงครามหรือในการประพาสก็เป็นพนักงานที่จะแห่ห้อมล้อมประจำการในที่ใกล้เคียงพระองค์ จนที่สุดเวลาเสด็จออกท้องพระโรง กรมเหล่านี้ต้องเข้าเฝ้าก่อนขุนนางกรมอื่นๆ เป็นผู้ซึ่งจะมีอาวุธเข้ามาในท้องพระโรงได้พวกเดียว
กรมพระตำรวจ ๘ กรมนั้น ได้แก่กรมตำรวจใหญ่ซ้ายขวา กรมตำรวจในซ้ายขวา กรมตำรวจนอกซ้ายขวา กรมตำรวจช่างทหารใน กรมตำรวจสนมทหารซ้าย ทุกกรมมีเจ้ากรม ปลัดกรม จ่า และนายเวร ขุนหมื่น รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินปี ส่วนพลตำรวจนั้นก็แบ่งเวรกันเข้าประจำการเป็นผลัดๆ
โดยเฉพาะกรมพระตำรวจใหญ่ขวาได้บังคับบัญชากรมฝีพายมาแต่เดิมด้วย เมื่อมีราชการอันใด ซึ่งเป็นทางใกล้ก็ดีหรือไปในหัวเมืองไกลก็ดี เมื่อจะต้องมีข้าหลวงออกไปด้วยข้อราชการนั้นๆ ก็ใช้กรมพระตำรวจโดยมาก เพราะฉะนั้นแม้ว่ากรมพระตำรวจแบ่งอยู่ในฝ่ายทหาร แต่ก็มิได้เกี่ยวข้องกับกรมพระกลาโหมเลยแต่เดิมมา ทั้งมีข้อห้ามมิให้เสนาบดีผู้ใดผู้หนึ่งขอให้ตั้งผู้ใดเป็นเจ้ากรมปลัดกรมพระตำรวจ ต้องแล้วแต่พระเจ้าแผ่นดินจะทรงตั้งได้พระองค์เดียว บรรดาพระราชอาญาทั้งปวงซึ่งพระเจ้าแผ่นดินจะลงโทษแก่ผู้หนึ่งผู้ใดย่อมใช้กรมพระตำรวจทั้งสิ้น จึงมิได้ให้กรมพระตำรวจอยู่ในบังคับผู้ใด ฟังคำสั่งจากพระเจ้าแผ่นดินโดยตรงแห่งเดียว
แต่กรมรักษาพระองค์นั้น ประจำรักษาพระเจ้าแผ่นดินในเวลาเมื่อมีที่เสด็จไปแห่งใดคล้ายกันกับตำรวจ แต่เมื่อถึงที่ประทับหรือเมื่อประจำอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เป็นผู้รักษาชั้นในใกล้เคียงชิดพระเจ้าแผ่นดินกว่ากรมพระตำรวจอีก เป็นผู้ซึ่งใช้ราชการได้ตลอดถึงพระบรมมหาราชวังชั้นในในการบางสิ่ง นับว่าเป็นผู้ใกล้ชิดชั้นที่สองรองจากชาวที่ซึ่งอยู่ในฝ่ายพลเรือนลงมา แต่ไม่ได้เป็นผู้พิจารณาความศาลรับสั่ง เป็นพนักงานการซึ่งจะเป็นที่สำราญพระราชหฤทัยต่างๆ มีพนักงานรักษาต้นไม้เลี้ยงสัตว์เป็นต้น เป็นนายด้านทำการในพระบรมมหาราชวังปนกันไปกับกรมวังฯ"
นอกจากนี้ พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) เจ้ากรมพระตำรวจในซ้ายท่านสุดท้ายก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็ได้กรุณาเล่าไว้ว่า ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นเวลาที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จประทับช้างทรงทั้งยามประพาสและยามสงคราม สี่เจ้ากรมพระตำรวจทั้งนอก ใน ซ้าย ขวานั้น คือผู้ทำหน้าที่เป็นจตุรงคบาท ผู้รักษาเท้าช้างพระที่นั่ง ...
ผมค้นข้อมูลต่อจากพระบรมราชาธิบายก็ได้ความว่า ...
ในกระบวนพยุหยาตราของโบราณกษัตริย์ ทั้งทางสถล (บก) และทางชล (น้ำ) นั้น ล้วนแล้วแต่มีบทบาทของ "ตำรวจ" อยู่ในกระบวน
มีการกำหนดตำแหน่งการวางตัวในกระบวนชัดเจน อย่างเช่น ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคนั้น ก็ปรากฏชื่อ "เรือตำรวจ" 3 ลำ ทำหน้าที่เป็นเรืออารักขาหน้าหลังเรือพระที่นั่งสำคัญ 4 ลำ คือ "สุพรรณหงส์" "นารายณ์ทรงสุบรรณ" "อนันตนาคราช "เอนกชาติภุชงค์" ...
วิเคราะห์โดยสรุป คือ ตำรวจนั้นมีหน้าที่ในการถวายความปลอดภัยแด่องค์พระมหากษัตริย์ ทั้งยังทำหน้าที่ลงอาญาแก่ไพร่ฟ้าผู้ฝ่าฝืนกฎหมายภายใต้พระบรมราชอาญาขององค์พระมหากษัตริย์ โดยเป็นการกระทำต่างพระเนตรพระกรรณ
ฟังดูแล้วเหมือนว่า ... ประเทศสยามนี้เล็กกระจิดริด พระมหากษัตริย์จะบัญชาให้ตำรวจไปจับกุมชำระความลงอาญาผู้ใดก็ได้ง่ายๆ
ถามว่าแล้วตามต่างจังหวัดห่างไกลล่ะ ... ตำรวจในพระองค์เหล่านี้ท่านไปถึงมั้ย
คำตอบก็คือ ... ก่อนสมัยเปลี่ยนแปลงปรับปรุงประเทศ หัวเมืองต่างจังหวัดต่างก็มีเจ้าเมืองเป็นของตัวเอง ชะรอยว่าเจ้าเมืองเหล่านี้มีความเป็น 'เจ้า' อยู่แล้วในเมืองของตน ฉะนั้นการปกครองภายในย่อมไม่แตกต่างจากราชธานีมากนัก
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ แม้กระทั่ง ปี พ.ศ.2482 ... เมืองเชียงใหม่ก็ยังมีราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ปกครอง ... มี เจ้าแก้วนวรัฐ ประพัทธอินทนันทพงษ์ ดำรงนพีสีนครเขตต์ ทศลักษณเกษตรอุดม บรมราชสวามิภักดิ์ บริรักษปัจฉิมานทิศ สุจริตธรรมธาดา มหาโยนางคราชวงศาธิบดี เป็นพระมหากษัตริย์ ...
และก็อาจอุปมาได้ว่า ระบบการปกครองแบบผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ... ก็คือระบบการรักษาความสงบเรียบร้อยในแบบฉบับของภูมิภาค มาตั้งแต่สมัยโบราณ ...
เมื่อบ้านเมืองขยายขนาดและสังคมมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในสมัยรอยต่อยุครัชกาลที่ 4 - 5 บทบาทของตำรวจซึ่งเคยจำกัดอยู่แต่ในเขตนครบาล ก็ขยายออกไปสู่ส่วนภูมิภาค
แต่ด้วยความที่คำว่า "ตำรวจ" เป็นศัพท์สูง (เพราะเป็นคำขอม เฉกเช่นเดียวกับราชาศัพท์ทั้งหลายแหล่) การเรียกชื่อผู้ทำหน้าที่ดูแลความสงบจึงยังไม่ใช้คำว่า "ตำรวจ" เพราะในความรู้สึกส่วนพระองค์ในขณะนั้น "ตำรวจ" คือผู้ทำหน้าที่องครักษ์เป็นหลัก
ด้วยเหตุนี้ จึงปรากฏ "กองโปลิศ" ในยุคนั้น แทนที่จะเป็นคำว่า "ตำรวจ"
แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า ไอ้คนที่มาทำหน้าที่เป็นโปลิศ ในยุคแรกๆนี้ มันไม่ใช่คนไทย
ด้วยเพราะมีผู้บังคับบัญชาเป็นฝรั่งต่างชาติ จึงได้ว่าจ้างเอาแขกมาเลย์บ้าง แขกอินเดียบ้าง มาแต่งตัวเป็นโปลิศ รักษาความสงบเรียบร้อยภายในพระนคร
และด้วยเหตุผลที่ว่าเมื่อ "กองโปลิศ" ถูกก่อตั้งครั้งแรก มีที่ทำการอยู่ทางด้านทิศใต้ของพระนคร ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อต่อมาปรากฎว่าได้เลิกจ้างแขกอินเดียเหล่านี้ให้เป็นตำรวจ ลูกหลานพระศิวะเหล่านี้จึงตกค้างอยู่ในประเทศไทย รวมตัวก่อตั้งเป็นชุมชนพาหุรัดขึ้นตราบจนปัจจุบัน ... ประกอบอาชีพค้าผ้า ค้าปืน ตามความถนัด ...
ราวๆปี พ.ศ.2441 ... ความผ่อนคลายในโบราณราชประเพณีต่างๆมีมากขึ้น พร้อมๆกับความเข้าที่เข้าทางในการใช้ภาษาของประเทศที่สับสนในช่วงปรับปรุงประเทศอย่างสยามก็มีมากขึ้น "กองโปลิศ" จึงถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น "กรมกองตระเวน" และปีเดียวกันนี้ก็มีการจัดตั้ง "กรมตำรวจภูธร"
"กรมกองตระเวน" ขึ้นตรงกับ "กระทรวงนครบาล"
"กรมตำรวจภูธร" ขึ้นตรงกับ "กระทรวงมหาดไทย"
แน่นอนครับ ... คนกรุง เปลี่ยนจากเรียกไอ้คนที่ทำหน้าที่จับชาวบ้านว่า "โปลิศ" มาเป็น "พลตระเวน"
และ คนต่างจังหวัด ก็เรียกว่า "ตำรวจ"
โครตงง ...
บัดนี้ "ตำรวจ" มีความหมายเป็น 2 ทาง คือ "ตำรวจ แบบกรมพระตำรวจ" ที่ image เป็นชาววัง องครักษ์ประจำองค์พระมหากษัตริย์ กับ "ตำรวจ แบบตำรวจภูธร" ที่ image เป็นชายล่ำดำเกรียม มีผ้าขาวม้าคาดพุง ...
ด้วยเหตุนี้ ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชกำหนดให้ "ตำรวจ" ที่ทำหน้าที่เป็นองครักษ์นั้น มีชื่อเรียกใหม่รวมทั้ง 8 กรมว่า "กรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์" ...
เป็นอันว่าแยกกันเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ... "ตำรวจหลวง" กับ "ตำรวจราษฎร์"
ทีนี้ ... พอ 13 ตุลาคม พ.ศ.2465 ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ก็ทรงโปรดเกล้าฯให้กระทรวงนครบาล กับ กระทรวงมหาดไทย มีผู้บังคับบัญชาคนเดียวกัน ... กรมกองตระเวนก็เลยต้องไปรวมกับกรมตำรวจภูธร ... แต่ชื่อไม่รวมกัน ... ตั้งชื่อใหม่ดื้อๆว่า "กรมตำรวจภูธรและกรมพลตระเวน" ... ไม่เข้าใจ?! ทำไมต้องเก๊กใส่กัน
พอ พ.ศ.2469 กระทรวงนครบาลยุบรวมกับกระทรวงมหาดไทยอย่างจริงจัง ... กรมตำรวจภูธรกับกรมพลตระเวน จึงยุบรวมกันภายใต้ชื่อใหม่(ตรงไหน?) ว่า "กรมตำรวจภูธร"
และช่วงนี้เองที่คำว่า "ตำรวจนครบาล" ได้ถือกำเนิดขึ้น ควบคู่กับ "ตำรวจภูธร" แต่ก็ยังสังกัด "กรมตำรวจภูธร" กรมเดียวกันอยู่ดี ต่างก็แค่หน้าที่เขตรับผิดชอบ
และเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 "กรมตำรวจภูธร" จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "กรมตำรวจ" (เฉยๆ)
เครื่องแบบตำรวจสมัยก่อน ชาวบ้านมักเรียกว่าพวก "หัวแดง-แข้งดำ"
ฉะนั้นแล้ว ... ตำรวจในปัจจุบัน ... ถามว่าสืบเชื้อสายมาจากไหน ... ถ้าว่ากันตามหลักเชื้อสาย ... ตำรวจตามโรงพักสืบเชื้อมาจากกองโปลิศ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับกรมพระตำรวจเลยแม้แต่น้อย
เพราะปัจจุบันกรมตำรวจหลวงรักษาพระองค์ได้กลายสภาพเป็นฝ่ายๆหนึ่งในกรมวัง ของสำนักพระราชวัง ไปเป็นที่เรียบร้อย ...
ตำรวจในปัจจุบันก็เพียงแค่กลุ่มอาชีพที่ยืมชื่อ "ตำรวจ" มาเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ให้ตัวเอง ...
ใช่เหรอ?
อันที่จริงประวัติศาสตร์ตำรวจดูเหมือนจะมืดมน เมื่อต้องเริ่มต้นยุคแห่งตำรวจสมัยใหม่ด้วยการมี "แขกอินเดีย" เป็นต้นแบบ ... แต่อันที่จริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่
โปลิศแขก หยุดกึกลงแทบจะสูญพันธุ์ในทันทีเมื่อปี พ.ศ.2448 หลังจากพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหารถูกนำมาใช้ในแผ่นดินไทย
ด้วยเหตุเพราะ แรกเริ่มเดิมทีการก่อตั้งกองโปลิศนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระวิสัยทัศน์ตามอย่างกองโปลิศในสิงคโปร์ ที่นำเอาพวกแขกอินเดีย แขกกุรข่ามาเป็นกองกำลังรักษาความสงบในประเทศ
แต่รูปแบบของสิงคโปร์นั้นเกิดขึ้นและสัมฤทธิผลได้ด้วยเพราะว่าเป็นเมืองที่มีความแตกต่างหลากหลายมาก แต่ละชาติ แต่ละเชื้อสายที่เข้ามาในสิงคโปร์มีหน้าที่ถนัดของตัวเอง คนจีนค้าขาย คนแขกรักษาความปลอดภัย ฝรั่งปกครอง
ถามว่าทำไม "ตำรวจ" ต้อง "แขก"?
จริงๆไม่ใช่เหตุผลว่า "แขก" แต่เหตุผลคือ ตอนที่ทหารอังกฤษรบกับอินเดีย มีทหาร 2 กองทัพที่ทหารอังกฤษรู้สึกว่าน่าเกรงขาม หนึ่งคือ ทหารซิกข์ ที่มีลักษณะเด่นตรงที่ตัวใหญ่อย่างควาย สองคือ ทหารกุรข่า ที่รบเก่ง มีมีดอันเดียวก็รบชนะปืน
ฉะนั้นแล้วว่าด้วยหน้าที่แห่งการปราบปรามใช้กำลัง "แขก" ถือว่าเก่งในสายตาฝรั่ง
ทหารซิกซ์ ที่ถูกจ้างให้มาเป็น "โปลิศ" ในสยาม
ตำรวจกุรข่า ในสิงคโปร์ ในยุคปัจจุบัน จะเห็นว่าเอกลักษณ์ของนักรบกุรข่าคือมีดคูกรีที่ใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณ
แต่ทฤษฎีนำแขกมาปราบโจรดังกล่าว มิอาจใช้ได้ผลกับชนชาวสยาม ...
เพราะชาวสยาม ไม่กลัวแขก ...
แน่นอนว่าวลี "เจองูกับแขก ให้ตีแขกก่อนงู" มีใช้บนแผ่นดินนี้ เพียงแผ่นดินเดียวในโลก -_-'
ลองจินตนาการดูก็น่าจะรู้ว่าบ้านเมืองน่าจะวุ่นวายขนาดไหน เมื่อตำรวจแขกไม่ได้เป็นที่ยำเกรงของชาวประชาเลยแม้แต่น้อย
"ตำรวจแขก" จึงไม่เวิร์คเลยสำหรับประเทศไทยแลนด์ ดินแดนของไทยเรา
การสรรหาคนมาเป็นตำรวจแทนแขกในช่วงยุครอยต่อนั้น ไม่มีข้อมูลปรากฏแน่ชัด บ้างก็ว่าเอามอญมาเป็น บ้างก็ว่าเอาพวกจามมาเป็น ... ((พวกจาก ไม่ได้หมายถึงพวกเป็นหวัดนะ -_-' จามคือกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่ง))
พอราวๆปี พ.ศ.2444 รากฐานของตำรวจก็ได้หยั่งลงบนแผ่นดินเมื่อมีการจัดตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรขึ้น เพื่อผลิตตำรวจซึ่งเป็นคนไทย ไปปกครองบังคับบัญชาตำรวจแขก ตำรวจมอญ และตำรวจจาม
และต่อมาอีก 4 ปี เมื่อพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหารถูกนำมาใช้ในสยาม พระราชบัญญัตินี้จึงให้เกณฑ์ไพร่ฟ้าหน้าใสไปเป็นตำรวจภูธรด้วย สำหรับหัวเมืองที่ไม่มีการจัดตั้งกองทหาร ...
ก็เป็นอันว่า เราได้ตำรวจไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทย จับคนไทย ((เอ้ย!)) อย่างสมบูรณ์แบบมานับตั้งแต่นั้น ...
ตำรวจแขก ตำรวจมอญ ตำรวจจาม ตกงานไปตามระเบียบ
ในทรรศนะของผม ยุคสมัยที่มีการนำเอาคนต่างด้าวมาเป็นตำรวจ ผมเห็นว่าเป็นแค่ "พนักงานรักษาความปลอดภัย" ไม่ใช่ "ตำรวจ"
ถามว่าทำไม?
มันมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ ...
ตราโล่เขนที่เป็นตราประจำของตำรวจนั้น ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้เป็นตราประจำหน่วยเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2445 ...
หลังจากที่ "โรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธร" รากฐานของการที่ตำรวจไทยเริ่มที่จะเป็นคนไทยแท้ๆทำหน้าที่ ก่อตีั้งขึ้นไม่นาน ...
ตรากรมตำรวจ
ก่อนหน้านี้ ตำรวจใช้ตราหนุมานสี่กร
หนุมาน ไม่บอกก็รู้ว่าหมายถึงชนชาติใด ... รามเกียรติ์คงไม่ใช่มหากาพย์ของคนออสเตรเลีย ...
แต่ โล่เขน คือสัญลักษณ์ของนักรบไทยโบราณ ไทยแต๊ๆแต่กำเนิด
((อดขยายความไม่ได้ เห็นเข้าใจผิดกันเยอะมาก เรื่อง เขน
พูดถึง โล่ คงเข้าใจกันถ้วนหน้า แต่พอพูดถึง เขน ขึ้นมา เป็นอันต้องเถียงกันว่า คืออะไร
แท้จริง เขนคือเครื่องป้องกันนะครับ ... ไม่ใช่ดาบ
เป็นเครื่องป้องกันเหมือนโล่ แต่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ...
ส่วน เขน ในตราตำรวจนั้น เป็น พระแสงดาบเขน หรือพูดง่ายๆ "ดาบ" ชื่อ "เขน" เป็น 1 ใน 30 เครื่องราชูปโภค ในหมวดพระแสง (อาวุธ) ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเขนที่เป็นเครื่องป้องกันแต่อย่างใด ...))
เขน
และเมื่อสัญลักษณ์ของตำรวจเปลี่ยนจากแขก มาเป็นไทยแท้ๆ ทั้งยังเจือปนไปด้วยกลิ่นอายของ 'ราชสำนัก' แบบนี้ ความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างตำรวจแขก กับตำรวจไทย ยิ่งดูห่างไกล
จริงอยู่ แม้ว่าในปัจจุบัน "ตำรวจ" ตามความหมายและการใช้ดั้งเดิมนั้น ได้กลายเป็นแผนกถวายความปลอดภัยแผนกหนึ่งในสำนักพระราชวัง ... แต่ "ใคร" ล่ะครับ ที่ทำหน้าที่อยู่ ณ ตรงนั้น ...
มันไม่ใช่ใครอื่นหรอก ก็ตำรวจอย่างพวกผมนี่แหล่ะ ที่เมื่อสมควรด้วยยศและเวลาแล้ว เกือบทุกคนจะต้องสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำหน้าที่เป็น "นายตำรวจราชสำนักเวร" ถวายความปลอดภัยให้กับองค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์เฉกเช่นเดียวกับข้าราชบริพารในกรมพระตำรวจทั้ง 8 กรมในสมัยโบราณ
จริงๆแล้วมี "นายตำรวจราชสำนักประจำ" ที่ทำหน้าที่เป็นราชองครักษ์แบบถาวร อยู่อีกส่วนหนึ่ง ...
สำหรับท่านที่เคยขับรถผ่านวังสวนจิตรฯก็ดี วังศุโขทัยก็ดี อาจเคยเห็นเจ้าหน้าที่เครื่องแบบสีน้ำเงินเข้ม ยืนอยู่ตามจุดต่างๆรายรอบวัง บางครั้งโชคดีอาจได้เห็นเจ้าหน้าที่ชุดเต็มยศสีเลือดหมู หมวกยาวๆสูงๆสีฟ้าๆ ขี่ม้าหลวงสีขาว (เสริม::ม้าตำรวจไม่เรียกเป็น 'ตัว' เรียกเป็น 'ม้า' เพราะเป็นม้าหลวง) ... นั่นก็ตำรวจทั้งนั้น
และนี่จะมีใครรู้รึเปล่าครับว่าหน้าที่รดน้ำต้นไม้ และดับเพลิงภายในเขตพระราชฐานทั่วประเทศเป็นหน้าที่ของตำรวจพลร่ม กองกำกับการ 5 ...
ตำรวจในปัจจุบัน อาจดูเหมือนเป็น"ตำรวจราษฎร์" มากกว่า"ตำรวจหลวง" แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับว่า แม้แต่ในพระราชบัญญัติตำรวจแหง่ชาติ พ.ศ.2547 (ฉบับปัจจุบัน) เองนั้น ได้กำหนดหน้าที่อันดับแรกของข้าราชการตำรวจไว้ในมาตรา 6 ข้อที่ 1 อย่างชัดถ้อยชัดคำว่า "รักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ"
จริงๆผมไม่อยากเขียนเรื่องของพิธีการแต่งตั้ง "ยศนายพล" ของตำรวจ ว่ามีความเป็น "ตำรวจหลวง" มากแค่ไหน
"พระแสงขรรค์ชัยศรี" คืออะไร "พระคฑา" คืออะไร
ทำไมใช้องค์นึงแตะบ่านายพลตำรวจ อีกองค์แตะบ่านายพลทหาร ...
เดี๋ยวทหารท่านจะน้อยเนื้อต่ำใจ ...
แม้ว่าทุกวันนี้ผมก็เป็นแค่ "ตำรวจราษฎร์" คนนึง ... ทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข อยู่บนความเกลียดชัง และภาพในแง่ลบที่ประชาชนมอง
แต่ครั้งนึงผมก็ภาคภูมิใจ ที่ได้เป็นตำรวจคนนึงที่ทำหน้าที่ "ตำรวจหลวงรักษาพระองค์" ในเขตราชวัตร หรือเขตมณฑลพิธีชั้นในสุด เมื่อครั้งงานพระราชพิธีถวายเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ...
นี่แหล่ะ ที่เป็นเครื่องยืนยันว่า ... แม้ตำรวจไทยส่วนใหญ่ (95%) ในปัจจุบันจะไม่ได้มีหน้าที่เป็นองครักษ์ของพระมหากษัตริย์โดยตรง เฉกเช่นสมัยโบราณกาลแล้วก็ตาม
แต่เรา...ยังคงเป็น "ตำรวจในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" เป็นชายชาญชาติเชื้อแห่ง"กรมพระตำรวจหลวง" ผู้ที่พระมหากษัตริย์ทรงไว้วางพระราชหฤทัย
ผู้ที่มีศักดิ์และสิทธิในคำว่า "ตำรวจ" ตามความหมายแต่โบราณ ไม่ใช่แต่เพียงคำว่า "โปลิศ"
เราคือ...ผู้ที่สามารถทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แบบ ทั้งถวายอารักขาเฉกเช่นสมัยโบราณกาล และรักษาความสงบของบ้านเมืองต่างพระเนตรพระกรรณ ...
นายตำรวจราชสำนักประจำ ผู้ทำหน้าที่ "ราชองครักษ์"